กรุงเทพฯ – 12 กันยายน 2567 – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จัดงาน YMID HUB HAPPENNING 2024 “เปิดย่านโยธีเพื่อโอกาสใหม่ของการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์” เพื่อรวบรวมและจัดแสดงผลงานนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่น่าสนใจของประเทศ รวมถึงประชาสัมพันธ์กลไกการสนับสนุนนวัตกรรมทางการแพทย์ของย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี รวมทั้งย่านนวัตกรรมเครือข่ายทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชน นักวิจัย และเครือข่ายนวัตกรภายในย่านฯให้สามารถเตรียมพร้อมสู่การพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรมต่อไปได้ในอนาคต โดยภายในงานแบ่งเป็นโซนนิทรรศการกว่า 80 ผลงาน และกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ด้านการแพทย์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิอีกกว่า 20 ท่าน
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “การจัดงาน YMID HUB HAPPENING 2024 ในวันนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเครือข่ายพันธมิตรของย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวง อว. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรมแพทย์ทหารบก กระทรวงกลาโหม เครือโรงพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล รวมทั้งพันธมิตรอีกหลายแห่ง ซึ่งทุกหน่วยงานล้วนมีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานของ YMID ให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ
ทั้งด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ บริการ สภาพแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน ถือเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่ยั่งยืนในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่จะลดอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริการด้านการแพทย์ต้นแบบของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ NIA ภายใต้บทบาท “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)” ที่พร้อมเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างและยกระดับความสามารถผู้ประกอบการนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะก่อให้เกิดการส่งเสริมและเกื้อหนุนด้านระบบนิเวศนวัตกรรม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวมทั้งมุ่งเน้นกระจายการพัฒนาและการส่งเสริมด้านนวัตกรรมให้เข้าถึงทุกภูมิภาคและสามารถตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจได้จริง”

“จะเห็นว่าพื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี มีศักยภาพและความพร้อมเป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาและขับเคลื่อนด้านการวิจัยและธุรกิจการแพทย์ของไทย ด้วยทั้งเป็นพื้นที่บ่มเพาะนักศึกษาและนักวิจัยที่จะผลิตผลงานคุณภาพออกมาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีเครือข่ายภาคเอกชนที่จะเข้ามาส่งเสริมและกำหนดทิศทางด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ต่อไป ทั้งนี้ NIA พร้อมสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์ในพื้นที่อื่นๆ เช่น ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก ย่านนวัตกรรมการแพทย์ศิริราช รวมทั้ง Chula Medical Hub เพื่อขยายพื้นที่เพิ่มโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ต่อไป ซึ่ง NIA หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมครั้งนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญของการผลักดันบทบาทการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ภายในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีร่วมกับพื้นที่พัฒนานวัตกรรมการแพทย์อื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะสร้างการเปลี่ยนแปลงและความตื่นตัวด้านนวัตกรรมต่อบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และนวัตกร ตลอดจนบุคคลทั่วไปให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรม และพร้อมผนึกกำลังพัฒนาให้เป็นย่านนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาทางการแพทย์ที่มุ่งสู่อนาคต” ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติม
นายปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี หรือ YMID เกิดขึ้นด้วยแนวคิดในการสร้างความพร้อมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชีย และมุ่งเป้าในการพัฒนาระบบนิเวศเชิงพื้นที่ที่เอื้อต่อการศึกษาวิจัยและทดลองนวัตกรรมการแพทย์ในประเทศ พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการนวัตกรรม และนักลงทุนให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย YMID จะเป็นพื้นที่นำร่องในการสนับสนุนกลไกและโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาระบบนวัตกรรมและต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างให้เกิดการส่งเสริมและเกื้อหนุนในด้านระบบนิเวศนวัตกรรม และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร”
“งาน YMID HUB HAPPENING 2024 เปิดย่านโยธีเพื่อโอกาสใหม่ของการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 13 กันยายน 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมและจัดแสดงผลงานนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่น่าสนใจของประเทศ รวมถึงประชาสัมพันธ์กลไกการสนับสนุนนวัตกรรมทางการแพทย์ของย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี รวมทั้งย่านนวัตกรรมเครือข่ายทั่วประเทศให้สามารถเตรียมพร้อมสู่การพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรมต่อไปได้ในอนาคต โดยภายในงานแบ่งนิทรรศการเป็น 4 โซน ได้แก่ 1) ผลงานและผลิตภัณฑ์จากหน่วยงาน YMID 16 นวัตกรรม 2) เทคโนโลยี AI ด้านการแพทย์ 17 นวัตกรรม 3) ผลิตภัณฑ์ด้านการรักษา 30 นวัตกรรม และ 4) การดูแลสุขภาพและความงาม 17 นวัตกรรม รวมทั้งเวทีการเสวนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการแพทย์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิอีกกว่า 20 ท่าน ในหลากหลายหัวข้อ เช่น นวัตกรรมการพัฒนายาและวัคซีนด้วยฝีมือคนไทย เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการชะลอวัยและการฟื้นฟู เทคโนโลยี AI กับก้าวสำคัญในวงการแพทย์ และโรงพยาบาลอัจฉริยะ พลิกโฉมนวัตกรรมพิชิตมะเร็ง และการเติบโตของ Startups ด้านการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเครือข่ายนวัตกรรมด้านการแพทย์ที่มีศักยภาพของประเทศไทยที่สามารถรวมกันเป็นคลัสเตอร์ และสร้างให้เกิดการลงทุนในด้านนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพได้ อีกทั้งยังมีการถ่ายทอดจากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญที่ประสบความสำเร็จสู่นวัตกรรุ่นใหม่ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการในพื้นที่ด้วยนวัตกรรม เพื่อให้นวัตกรเข้าใจกระบวนการสร้างธุรกิจนวัตกรรมได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น” นายปริวรรต กล่าวเพิ่มเติม