กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จัดพิธีปิดหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ของภาครัฐและเอกชน รุ่นที่ 6 (PPCIL#6) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นสร้างศักยภาพผู้นำ บ่มเพาะทักษะและกระบวนทัศน์จนเกิดเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดเชิงนวัตกรรม เกิดการทำงานร่วมกันแบบเครือข่าย และพร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ชาตินวัตกรรมในทุกมิติ
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “NIA ภายใต้บทบาท “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม” หรือ Focal Conductor ให้ความสำคัญในการสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อยกระดับทักษะและความสามารถทางด้านนวัตกรรม ซึ่งระบบนวัตกรรมที่เข้มแข็งจะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายมิติทั้งเครือข่าย นวัตกร และองค์กรแห่งนวัตกรรม ดังนั้น การพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Maker) จากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคความมั่นคง ภาคการเมือง และสื่อมวลชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเร่งขับเคลื่อนประเทศในอนาคต”
“หลักสูตร PPCIL หนึ่งในหลักสูตรที่สร้างผู้นำการเปลี่ยนจึงได้จัดต่อเนื่องจนถึงรุ่นที่ 6 โดยมุ่งปรับเปลี่ยนชุดความคิดของกลุ่มผู้บริหารระดับกลางที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดสู่ผู้บริหารระดับสูง เพื่อวางรากฐานการคิดนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy Innovation) ก่อให้เกิดข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญของประเทศ สามารถให้ผู้เข้าอบรมสามารถออกแบบนวัตกรรม และวางแผนการจัดการเชิงนโยบาย โดยคาดการณ์และคิดเชิงอนาคต ร่วมกับหลักการออกแบบนโยบายที่ต้องเข้าใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อสร้างแนวปฏิบัติความร่วมมือแบบใหม่ เกิดการสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ซึ่งปีนี้มีผู้นำจากภาครัฐและเอกชนผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมการอบรมทั้งสิ้น 85 คน แบ่งเป็นภาครัฐ 35 คน ภาคเอกชน 39 คน ภาคความมั่นคง 5 คน ภาคการเมือง 1 คน และภาคสื่อมวลชน 5 คน เกิดผลสัมฤทธิ์เป็น 5 ข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายที่คลอบคลุม 4 ประเด็น ประกอบด้วย
1) นวัตกรรมพัฒนากำลังคน – เน้นการพัฒนากำลังคนสายอาชีวศึกษารุ่นใหม่ เนื่องจากปัจจุบันประชากรรุ่นใหม่ยังขาดทักษะที่ตรงกับงาน ดังนั้น จึงควรมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ของความร่วมมือทุกภาคส่วน สร้าง Global Workforce สมรรถนะสูง เพื่อให้เกิด Lifelong Learning เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น เพื่อให้บุคลากรมีทักษะและความสามารถที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน
2) นวัตกรรมความมั่นคงทางเทคโนโลยี ส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้งานเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยในกลุ่มผู้สูงอายุ สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันได้อย่างเท่าทันและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การนำ AI มาใช้ในการเรียนรู้ พัฒนาโปรแกรมการศึกษา จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ดิจิทัล สนับสนุนและปรับปรุงเทคโนโลยีให้ดีขึ้น จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันที่ปลอดภัยมากขึ้นและการส่งเสริมการใช้ “ไทยบาทดิจิทัล” เพื่อป้องกันและต่อต้านมิจฉาชีพออนไลน์ โดยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการทำธุรกรรมทางการเงินดิจิทัล เช่น เงินรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางที่รองรับการเขียนโปรแกรม ที่สามารถแจ้งเตือน ตรวจสอบ และติดตามได้ ซึ่งจะทำให้ลดความเสี่ยงจากการถูกฉ้อโกงทางออนไลน์
3) นวัตกรรมด้านสาธารณสุข–ยกระดับคุณภาพโภชนาการของอาหารริมทาง (Street Food) ให้มีมาตรฐานด้านสุขอนามัยและคุณค่าทางโภชนาการที่ดีขึ้น เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนห่างไกลจากโรค NCDs รวมทั้งสร้างความมั่นใจในการบริโภคอาหารริมทาง โดยเริ่มตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ มีมาตรฐานควบคุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้บริโภค โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพ สามารถสั่งผ่านช่องทางออนไลน์ จนเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคช่วยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น
4) นวัตกรรมเศรษฐกิจ–เน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ให้สามารถเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาเมือง โดยการพัฒนาทักษะและการสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น การทำบัตรสวัสดิการผู้ค้า เพื่อให้พวกเขามีโอกาสสร้างรายได้ที่มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การปรับภาพลักษณ์ สร้างมาตรฐานบริการ เกิดเครือข่ายพัฒนาขีดความสามารถทางการค้าที่เพิ่ม GDP ดึงดูดนักลงทุน และนักท่องเที่ยว รวมทั้งมีส่วนช่วยประเทศให้เกิดเศรษฐกิจรากฐานที่เป็นธรรม
ข้อเสนอนวัตกรรมนโยบายเหล่านี้ สะท้อนถึงประเด็นความท้าทายของประเทศไทย ซึ่ง NIA พร้อมที่จะส่งเสริม เชื่อมโยง และสนับสนุนนวัตกรรมเชิงนโยบายจากทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับพัฒนาการของประเทศไทย ทั้งนี้ NIA หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายจากผู้เข้าร่วมอบรม PPCIL รุ่นที่ 6 จะเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่ถูกนำไปส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไปร่วมกัน” ดร. กริชผกา กล่าวสรุป